วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประเภทของคอมพิวเตอร์

ประเภทของคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์มีขนาดและความสามารถแตกต่างกันไป ด้านหนึ่งเป็น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มาก มีตัวประมวลผลที่เชื่อมโยงกันอยู่เป็นพันๆ ตัวที่รับหน้าที่ทำการคำนวณที่ซับซ้อนมาก ส่วนอีกด้านเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ฝังตัวอยู่ในรถยนต์ ทีวี ระบบสเตอริโอ เครื่องคิดเลข และเครื่องใช้ต่างๆ คอมพิวเตอร์เหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อทำงานแบบจำกัด

การแบ่งประเภทของคอมพิวเตอร์นั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. ประเภทของคอมพิวเตอร์ตามหลักการประมวลผล
2. ประเภทของคอมพิวเตอร์ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
3. ประเภทของคอมพิวเตอร์ตามความสามารถของระบบ

1. แบ่งตามหลักการประมวลผล

จำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้

1.1 คอมพิวเตอร์แบบแอนะล็อก (Analog Computer)
หมายถึง เครื่องมือประมวลผลข้อมูลที่อาศัยหลักการวัด (Measuring Principle) ทำงานโดยใช้ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบต่อเนื่อง (Continuous Data) แสดงออกมาในลักษณะสัญญาณที่เรียกว่า Analog Signal เครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทนี้มักแสดงผล ด้วยสเกลหน้าปัดและเข็มชี้ เช่น การวัดค่าความยาว โดยเปรียบเทียบกับสเกลบนไม้บรรทัด การวัดค่าความร้อนจากการขยายตัว ของปรอทเปรียบเทียบกับสเกลข้างหลอดแก้ว

1.2 คอมพิวเตอร์แบบดิจิทัล (Digital Computer)
ซึ่งก็คือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการทำงานทั่วๆ ไปนั่นเอง เป็นเครื่องมือประมวลผลข้อมูลที่อาศัยหลักการนับ ทำงานกับข้อมูลที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ต่อเนื่อง (Discrete Data) ในลักษณะของสัญญาณไฟฟ้า หรือ Digital Signal อาศัยการนับสัญญาณข้อมูลที่เป็นจังหวะด้วยตัวนับ (Counter) ภายใต้ระบบฐานเวลา (Clock Time) มาตรฐาน ทำให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าเชื่อถือ ทั้งสามารถนับข้อมูลให้ค่าความละเอียดสูง เช่นแสดงผลลัพธ์เป็นทศนิยมได้หลายตำแหน่ง เป็นต้น

เนื่องจาก Digital Computer ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นสัญญาณไฟฟ้า (มนุษย์สัมผัสไม่ได้) ทำให้ไม่สามารถรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต้นทางได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนข้อมูลต้นทางที่รับเข้า (Analog Signal) เป็นสัญญาณไฟฟ้า (Digital Signal) เสียก่อน เมื่อประมวลผลเรียบร้อยแล้วจึงเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้ากลับไปเป็น Analog Signal เพื่อสื่อความหมายกับมนุษย์ต่อไป  โดยส่วนประกอบสำคัญที่เรียกว่า ตัวเปลี่ยนสัญญาณข้อมูล (Converter) คอยทำหน้าที่ในการเปลี่ยนรูปแบบของสัญญาณข้อมูล ระหว่าง Digital Signal กับ Analog Signal

1.3 คอมพิวเตอร์แบบลูกผสม (Hybrid Computer)
เครื่องประมวลผลข้อมูลที่อาศัยเทคนิคการทำงานแบบผสมผสาน ระหว่าง Analog Computer และ Digital Computer โดยทั่วไปมักใช้ในงานเฉพาะกิจ โดยเฉพาะงานด้านวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ในยานอวกาศ ที่ใช้ Analog Computer ควบคุมการหมุนของตัวยาน และใช้ Digital Computer ในการคำนวณระยะทาง เป็นต้น  การทำงานแบบผสมผสานของคอมพิวเตอร์ชนิดนี้ ยังคงจำเป็นต้องอาศัยตัวเปลี่ยนสัญญาณ (Converter) เช่นเดิม

2. แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ

2.1 เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่องานเฉพาะกิจ (Special Purpose Computer) 
หมายถึง เครื่องประมวลผลข้อมูลที่ถูกออกแบบตัวเครื่องและโปรแกรมควบคุม ให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ (Inflexible) โดยทั่วไปมักใช้ในงานควบคุม หรืองานอุตสาหกรรมที่เน้นการประมวลผลแบบรวดเร็ว เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุมสัญญาณไฟจราจร คอมพิวเตอร์ควบคุมลิฟท์ หรือคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบอัตโนมัติในรถยนต์ เป็นต้น

2.2 เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่องานอเนกประสงค์ (General Purpose Computer)
หมายถึง เครื่องประมวลผลข้อมูลที่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน (Flexible) โดยได้รับการออกแบบให้สามารถประยุกต์ใช้ในงานประเภทต่างๆ ได้โดยสะดวก โดยระบบจะทำงานตามคำสั่งในโปรแกรมที่เขียนขึ้นมา และเมื่อผู้ใช้ต้องการให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานอะไร ก็เพียงแต่ออกคำสั่งเรียกโปรแกรมที่เหมาะสมเข้ามาใช้งาน โดยเราสามารถเก็บโปรแกรมไว้หลายโปรแกรมในเครื่องเดียวกันได้ เช่น ในขณะหนึ่งเราอาจใช้เครื่องนี้ในงานประมวลผลเกี่ยวกับระบบบัญชี และในขณะหนึ่งก็สามารถใช้ในการออกเช็คเงินเดือนได้ เป็นต้น

3. แบ่งตามความสามารถของระบบ

จำแนกออกได้เป็น 4 ชนิด โดยพิจารณาจาก ความสามารถในการเก็บข้อมูล และ ความเร็วในการประมวลผล เป็นหลัก ดังนี้

3.1 ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super Computer)
หมายถึง เครื่องประมวลผลข้อมูลที่มีความสามารถในการประมวลผลสูงที่สุด ถือได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วมาก และมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อ เปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ๆ เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีราคาแพงมาก มีขนาดใหญ่ สามารถคํานวณทางคณิตศาสตร์ได้หลายแสนล้านครั้งต่อวินาที และได้รับการออกแบบ เพื่อให้ใช้แก้ปัญหาขนาดใหญ่มากทางวิทยาศาสตร์และทางวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน การศึกษาผลกระทบของมลพิษกับสภาวะแวดล้อมซึ่งหากใช้คอมพิวเตอร์ชนิดอื่นๆ แก้ไขปัญหาประเภทนี้ อาจจะต้องใช้เวลาในการคํานวณหลายปีกว่าจะเสร็จสิ้น ในขณะที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ จะต้องใช้หน่วยความจําสูง ดังนั้น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จึง
มีหน่วยความจําที่ใหญ่มาก ซูเปอร์คอมพิวเตอร์มีหลายประเภท ตั้งแต่รุ่นที่มีหน่วยประมวลผล
(processing unit) 1 หน่วย จนถึงรุ่นที่มีหน่วยประมวลผลหลายหมื่นหน่วยซึ่งสามารถทํางาน
หลายอย่างได้พร้อม ๆ กัน

3.2 เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (Mainframe Computer)
หมายถึง เครื่องประมวลผลข้อมูลที่มีส่วนความจำและความเร็วน้อยลง มีสมรรถภาพที่ต่ำกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์มาก แต่ยังมีความเร็วสูง และมีประสิทธิภาพสูงกว่ามินิคอมพิวเตอร์หรือไมโครคอมพิวเตอร์ สามารถใช้ข้อมูลและคำสั่งของเครื่องรุ่นอื่นในตระกูล (Family) เดียวกันได้ โดยไม่ต้องดัดแปลงแก้ไขใดๆ นอกจากนั้นยังสามารถทำงานในระบบเครือข่าย (Network) ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ที่เรียกว่า เครื่องปลายทาง (Terminal) จำนวนมากได้ สามารถทำงานได้พร้อมกันหลายงาน (Multi Tasking) และใช้งานได้พร้อมกันหลายคน (Multi User) ปกติเครื่องชนิดนี้นิยมใช้ในธุรกิจขนาดใหญ่ มีราคาตั้งแต่สิบล้านบาทไปจนถึงหลายร้อยล้านบาท จึงสามารถใช้โปรแกรมจํานวนนับร้อย
แบบในเวลาเดียวกันได้ โดยเฉพาะถ้าต่อเครื่องเข้าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถใช้ได้จากทั่วโลก ปัจจุบัน องค์กรใหญ่ๆ เช่น ธนาคาร จะใช้คอมพิวเตอร์ประเภทนี้ในการทําบัญชีลูกค้า หรือการให้บริการจากเครื่องฝากและถอนเงินแบบอัตโนมัติ (automatic teller machine) เนื่องจากเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ได้ถูกใช้งานมากในการบริการผู้ใช้พร้อมๆกัน เมนเฟรมคอมพิวเตอร์จึงต้องมีหน่วยความจําที่ใหญ่มาก ตัวอย่างของเครื่องเมนเฟรมที่ใช้กันแพร่หลายก็คือ คอมพิวเตอร์ของธนาคารที่เชื่อมต่อไปยังตู้ ATM และสาขาของธนาคารทั่วประเทศนั่นเอง

3.3 มินิคอมพิวเตอร์ (Mini Computer)
ธุรกิจและหน่วยงานที่มีขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ขนาดเมนเฟรมซึ่งมีราคาแพง ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์จึงพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้มีขนาดเล็กและมีราคาถูกลง เรียกว่า เครื่องมินิคอมพิวเตอร์ โดยมีลักษณะพิเศษในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ประกอบรอบข้างที่มีความเร็วสูงได้ มีการใช้แผ่นจานแม่เหล็กความจุสูงชนิดแข็ง (Harddisk) ในการเก็บรักษาข้อมูล สามารถอ่านเขียนข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสําหรับองค์กรขนาดกลาง หรือสําหรับแผนกหนึ่งหรือสาขาหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น
หน่วยงานและบริษัทที่ใช้คอมพิวเตอร์ขนาดนี้ ได้แก่ กรม กอง มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

3.4 ไมโครคอมพิวเตอร์ (Micro Computer)
หมายถึง เครื่องประมวลผลข้อมูลขนาดเล็ก คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแบบขนาดตั้งโต๊ะ (desktop computer) หรือขนาดเล็กกว่านั้น เช่น ขนาดสมุดบันทึก (notebook computer) และขนาดฝ่ามือ (palmtop computer) ไมโครคอมพิวเตอร์ได้เริ่มมีขึ้นในปีพ.ศ. 2518 ถึงแม้ว่าในระยะหลัง เครื่องชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพที่สูง แต่เนื่องจากมีราคาไม่แพงและมีขนาดกระทัดรัด มีส่วนของหน่วยความจำและความเร็วในการประมวลผลน้อยที่สุด สามารถใช้งานได้ด้วยคนเดียว จึงมักถูกเรียกว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer : PC) ไมโครคอมพิวเตอร์จึงยังเหมาะสําหรับใช้ส่วนตัว ไมโครคอมพิวเตอร์ได้ถูกออกแบบสําหรับใช้ที่บ้าน โรงเรียน และสํานักงานสําหรับที่บ้าน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการทํางบประมาณรายรับรายจ่ายของครอบครัวช่วยทําการบ้านของลูกๆ การค้นคว้าข้อมูลและข่าวสาร การสื่อสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail หรือ E -mail) หรือโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต (internet phone)

ในการติดต่อทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งทางบันเทิง เช่น การเล่นเกมบนเครื่อง
ไมโครคอมพิวเตอร์ สําหรับที่โรงเรียน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในการช่วยสอน
นักเรียนในการค้นคว้าข้อมูลจากทั่วโลกสําหรับที่สํานักงาน เราสามารถใช้ไมโครคอมพิวเตอร์
ในการช่วยพิมพ์จดหมายและข้อมูลอื่นๆ เก็บและค้นข้อมูล วิเคราะห์และทํานายยอดซื้อขาย
ล่วงหน้า

ปัจจุบัน ไมโครคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงกว่าในสมัยก่อนมาก อาจเท่ากับหรือมากกว่าเครื่องเมนเฟรมในยุคก่อน นอกจากนั้นยังราคาถูกลงมาก ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้มาก ทั้งตามหน่วยงานและบริษัทห้างร้าน ตลอดจนตามโรงเรียน สถานศึกษา และบ้านเรือน บริษัทที่ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ออกจำหน่ายจนประสบความสำเร็จเป็นบริษัทแรก คือ บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์
เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. แบบติดตั้งใช้งานอยู่กับที่บนโต๊ะทำงาน (Desktop Computer)

Desktop หรือ Desktop Computer คือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เป็นคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานบนโต๊ะ ที่ใช้ตามบ้านหรือสำนักงานทั่วไป โดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลชนิดอื่นๆ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะประกอบด้วยชิ้นส่วนที่แยกออกจากกัน มีการแยกชิ้นส่วนประกอบเป็น ซีพียู จอภาพ และแป้นพิมพ์ เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล( PC Computer  ) เป็นต้น ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ มีการผลิตที่เน้นให้มีความสวยงาม น่าใช้มากยิ่งขึ้น และได้รับความนิยมในการใช้งานมาก เนื่องจากราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์แบบอื่นๆ

2. แบบเคลื่อนย้ายได้ (Portable Computer) 

Portable Computer คือคอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนย้ายได้ สามารถพกพาติดตัว มีน้ำหนักเบาและมีหน้าจอที่บาง อาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จากภายนอก แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

2.1 คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป(Laptop) หรือ โน๊ตบุ๊ค(Notebook)
คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป เป็นพีซีแบบเคลื่อนที่ได้ มีน้ำหนักเบาและมีหน้าจอที่บาง หรือมักจะเรียกกันว่า คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เพราะมีขนาดเล็ก แล็ปท็อปสามารถทำงานโดยใช้แบตเตอรี ดังนั้นคุณจึงสามารถนำแล็ปท็อปไปได้ทุกที่ อย่างไรก็ตาม แล็ปท็อปจะไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เนื่องจากจะรวม CPU หน้าจอ และแป้นพิมพ์ไว้อยู่ในตัวเครื่องเดียวกัน หน้าจอจะพับลงบนแป้นพิมพ์เมื่อไม่ได้ใช้งาน

2.2 คอมพิวเตอร์มือถือ หรือที่เรียกว่า เครื่องช่วยงานส่วนบุคคลแบบดิจิทัล (PDA) 
 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยแบตเตอรีและเล็กพอที่จะพกพาไปได้ทุกที่ แม้ว่าประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์มือถือจะไม่เท่ากับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือแล็ปท็อป แต่คอมพิวเตอร์มือถือก็มีประโยชน์สำหรับการกำหนดการนัดหมาย การเก็บที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ รวมถึงการเล่นเกมต่างๆ คอมพิวเตอร์มือถือบางเครื่องมีประสิทธิภาพสูงกว่านั้น เช่น สามารถใช้โทรศัพท์หรือใช้อินเทอร์เน็ตได้ แทนที่จะใช้แป้นพิมพ์ คอมพิวเตอร์มือถือมีหน้าจอสัมผัสที่คุณสามารถใช้โดยใช้นิ้วมือ หรือ สไตลัส (อุปกรณ์ชี้ที่มีรูปร่างเหมือนปากกา)

2.3 แท็บเล็ตพีซี (Tablet Pc)
แท็บเล็ตพีซี คือ พีซีเคลื่อนที่ที่รวมคุณลักษณะของแล็ปท็อปและคอมพิวเตอร์มือถือเข้าด้วยกัน แท็บเล็ตพีซีเหมือนกับแล็ปท็อป คือมีประสิทธิภาพมากและมีหน้าจอแบบในตัว แท็บเล็ตพีซีเหมือนกับคอมพิวเตอร์มือถือตรงที่อนุญาตให้คุณเขียนบันทึกหรือวาดภาพบนหน้าจอ โดยทั่วไปโดยใช้ ปากกาแท็บเล็ต แทนที่จะเป็นสไตลัส นอกจากนี้ยังสามารถแปลงลายมือของคุณให้เป็นข้อความแบบพิมพ์ได้ แท็บเล็ตพีซีบางเครื่องเป็นแบบ "พับ" โดยมีหน้าจอที่หมุนได้และเปิดออกเพื่อให้เห็นแป้นพิมพ์ที่อยู่ด้านล่างได้


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น